วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2550

การสร้างสื่อการเรียนการสอน1

..สื่อการสอน..

....ความหมายของสื่อการสอน....
....นักวิชาการในวงการเทคโนโลยีทางการศึกษา โสตทัศนศึกษา และวงการการศึกษา ได้ให้คำจำกัดความของ “สื่อการสอน” ไว้อย่างหลากหลาย ดังเช่น
....ชอร์ส กล่าวว่า เครื่องมือที่ช่วยสื่อความหมายจัดขึ้นโดยครูและนักเรียน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ เครื่องมือการสอนทุกชนิดจัดเป็นสื่อการสอน เช่น หนังสือในห้องสมุด โสตทัศนวัสดุต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ สไลด์ ฟิล์มสตริป รูปภาพ แผนที่ ของจริง และทรัพยากรจากแหล่งชุมชน
....บราวน์ และคณะ กล่าวว่า จำพวกอุปกรณ์ทั้งหลายที่สามารถช่วยเสนอความรู้ให้แก่ผู้เรียนจนเกิดผลการเรียนที่ดี ทั้งนี้รวมถึง กิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่เฉพาะแต่สิ่งที่เป็นวัตถุหรือเครื่องมือเท่านั้น เช่น การศึกษานอกสถานที่ การแสดง บทบาทนาฏการ การสาธิต การทดลอง ตลอดจนการสัมภาษณ์และการสำรวจ เป็นต้น
....เปรื่อง กุมุท กล่าวว่า สื่อการสอน หมายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือหรือช่องทางสำหรับทำให้การสอนของครูถึงผู้เรียนและทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายที่ครูวางไว้ได้เป็นอย่างดี
....ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ให้ความหมาย สื่อการสอนว่า วัสดุอุปกรณ์และวิธีการประกอบการสอนเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการสื่อความหมายที่ผู้สอนประสงค์จะส่ง หรือถ่ายทอดไปยังผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
....ดังนั้น สรุปได้ว่า สื่อการสอน หมายถึง วัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการ ซึ่งถูกนำมาใช้ในการการเรียนการสอน เพื่อเป็นตัวกลางในการนำส่งหรือถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และเจตคติ จากผู้สอนหรือแหล่งความรู้ไปยังผู้เรียน ช่วยให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ และทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนที่ตั้งไว้
....ประโยชน์ของสื่อการเรียนการสอน....
....นักการศึกษาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ของสื่อการสอนไว้หลากหลาย เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับประโยชน์หรือคุณค่าของสื่อการสอนออกโดยแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ดังต่อไปนี้
....1. ประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อผู้เรียน....
- ช่วยกระตุ้นและเร้าความสนใจของผู้เรียน
- ช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็ว
- ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลในบริบทของการเรียนรู้
- ช่วยให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน และระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน
- ช่วยให้สามารถนำเนื้อหาที่มีข้อจำกัดมาสอนในชั้นเรียนได้
- ช่วยให้ผู้เรียนเรียนอย่างกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมกับการเรียน
- ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน สนุกสนาน และไม่เบื่อหน่ายต่อการเรียน
....2. ประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อผู้สอน....
- ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้สอนในด้านการเตรียมการสอนหรือเนื้อหาการสอน
- ช่วยสร้างบรรยากาศในการสอนให้น่าสนใจ
- ช่วยสร้างความมั่นใจในการสอนให้แก่ผู้สอน
- กระตุ้นให้ผู้สอนตื่นตัวอยู่เสมอ
....ประเภทของสื่อการสอน....
....เอ็ดการ์ เดล ได้แบ่งประเภทของสื่อการสอนออกเป็น 11 กลุ่ม ตามระดับการมีส่วนร่วมของผู้เรียน หรือระดับประสบการณ์ที่ผู้เรียนจะได้รับดังนี้
..1. ประสบการณ์ตรง (Direct or Purposeful Experiences)
ตัวอย่างเช่น การทดลองผสมสารเคมี การฝึกหัดทำอาหาร การฝึกหัดตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น
..2. ประสบการณ์จำลอง (Contrived experiences)
ตัวอย่างเช่น การฝึกหัดผ่าตัดตาด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน การฝึกหัดขับเครื่องบินด้วยเครื่อง Flight Simulator เป็นต้น
..3. ประสบการณ์นาฏการหรือการแสดง (Dramatized Experience)
ตัวอย่างเช่น การแสดงบทบาทสมมติ หรือการแสดงละคร
..4. การสาธิต (Demonstration)
ตัวอย่างเช่น การสาธิตการอาบน้ำเด็กแรกเกิด การสาธิตการแกะสลักผลไม้ เป็นต้น
..5. การศึกษานอกสถานที่ (Field Trip)
ตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยว หรือการเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ มีการจดบันทึกสิ่งที่พบตลอดจนสัมภาษณ์บุคคลที่ดูแลสถานที่เยี่ยมชม
..6. นิทรรศการ (Exhibits)
ตัวอย่างเช่น นิทรรศการ หรือการจัดป้ายนิเทศ
..7. โทรทัศน์ (Television)
ตัวอย่างเช่น เทปวีดิทัศน์ หรือเป็นรายการสด
..8. ภาพยนตร์ (Motion Picture)
ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ที่มีลักษณะเป็นภาพเคลื่อนไหว มีเสียงประกอบ และได้บันทึกลงไว้ในแผ่นฟิล์ม
..9. ภาพนิ่ง วิทยุ และแผ่นเสียง (Recording, Radio, and Still Picture)
ตัวอย่างเช่น สื่อภาพนิ่งซึ่งอาจเป็นรูปภาพ สไลด์ หรือภาพวาด ภาพล้อ หรือภาพเหมือนจริง
..10.
ทศนสัญลักษณ์ (Visual Symbols)
ตัวอย่างเช่น พวกวัสดุกราฟิกทุกประเภท เช่น แผนที่ แผนภูมิ แผนสถิติ แผนภาพ การ์ตูนเรื่อง หรือสัญลักษณ์รูปแบบต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการสื่อความหมาย
..11. วจนสัญลักษณ์ (Verbal Symbols)
ตัวอย่างเช่น รูปแบบของคำพูด คำบรรยาย ตัวหนังสือ ตัวเลข หรือสัญลักษณ์พิเศษต่างๆ ที่ใช้ในภาษาการเขียน
....การออกแบบสื่อการสอน....
....สื่อการสอน คือ การนำสื่อมาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการนำวัสดุ เครื่องมือและวิธีการมาประกอบในการถ่ายทอดความรู้และเนื้อหาไปยังผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ในสิ่งที่ครูได้ถ่ายทอด รวมไปถึงมีความเข้าใจตรงตามเนื้อหา นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น และช่วยประหยัดเวลา
....ลักษณะการออกแบบที่ดี (Characteristics of Good Design) มีลักษณะดังต่อไปนี้
..1.ควรเป็นการออกแบบที่เหมาะสมกับความมุ่งหมายของการนำไปใช้
..2. ควรเป็นการออกแบบที่มีลักษณะง่ายต่อการมำความเข้าใจ การนำไปใช้งานและกระบวนการผลิต
..3. ควรมีสัดส่วนที่ดีและเหมาะสมตามสภาพการใช้งานของสื่อ
..4. ควรมีความกลมกลืนของส่วนประกอบ ตลอดจนสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของการใช้และการผลิตสื่อชนิดนั้น
....องค์ประกอบของการออกแบบมีดังต่อไปนี้
..1. จุด ( Dots )
..2. เส้น ( Line )
..3. รูปร่าง รูปทรง ( Shape- Form )
..4. ปริมาตร ( Volume )
..5. ลักษณะพื้นผิว ( Texture )
..6. บริเวณว่าง ( Space )
..7. สี ( Color )
..8. น้ำหนักสื่อ ( Value )
....การออกแบบผลิตสื่อใหม่ ควรคำนึงถึงดังนี้
1. จุดมุ่งหมาย : ต้องพิจารณาว่าต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนอะไร
2. ผู้เรียน : ควรได้พิจารณาผู้เรียนทั้งโดยรวมว่าเป็นใคร มีความรู้พื้นฐานและทักษะอะไรมาก่อน
3. ค่าใช้จ่าย : มีงบประมาณเพียงพอหรือไม่
4. ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค : ถ้าตนเองไม่มีทักษะจะหาผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาจากแหล่งใด
5. เครื่องมืออุปกรณ์ : มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นพอเพียงต่อการผลิตหรือไม่
6. สิ่งอำนวยความสะดวก : มีอยู่แล้วหรือสามารถจะจัดหาอย่างไร
7. เวลา : มีเวลาพอสำหรับการออกแบบหรือไม่
....การใช้สื่อในการเรียนการสอน....
....หลักในการใช้สื่อการสอน ครูควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของสื่อการสอนแต่ละชนิดดังนี้
..1. ความเหมาะสม : สื่อที่ใช้เหมาะสมกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของการสอนหรือไม่
..2. ความถูกต้อง : สื่อทีใช้ช่วยให้นักเรียนได้ข้อสรุปที่ถูกต้องหรือไม่
..3. ความเข้าใจ : สื่อที่ใช้ควรช่วยให้นักเรียนรู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและให้ข้อมูลที่ถุกต้องแก่นักเรียน
..4. ประสบการณ์ที่ได้รับ : สื่อที่ใช้นั้นช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่นักเรียนหรือไม่
..5. เหมาะสมกับวัย : ระดับความยากง่ายของเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในสื่อชนิดนั้น ๆ เหมาะสมกับระดับ
ความสามารถ ความสนใจ และความต้องการของนักเรียนหรือไม่
..6. เที่ยงตรงในเนื้อหา : สื่อนั้นช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาที่ถูกต้องหรือไม่
..7. ใช้การได้ดี : สื่อที่นำมาใช้ควรทำให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้ดี
..8. คุ้มค่ากับราคา : ผลที่ได้จะคุ้มค่ากับเวลา เงิน และการจัดเตรียมสื่อนั้นหรือไม่
..9. ตรงกับความต้องการ : สื่อนั้นช่วยให้นักเรียนร่วมกิจกรรมตามที่ครูต้องการหรือไม่
..10. ช่วยเวลาความสนใจ : สื่อนั้นช่วยกระตุ้นให้นักเรียนสนใจในช่วงเวลานานพอสมควรหรือไม่
....การวัดและประเมินผลสื่อการเรียนการสอน....
....หลังจากที่เราออกแบบสื่อแล้วแล้วนำมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน ก็ควรมีการวัดผลของสื่อ เป็นการวัดประสิทธิภาพของสื่อ ความคุ้มค่าของสื่อต่อผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ วัดเพื่อปรับปรุงสื่อ วัดผลถึงระยะเวลาที่ในการนำเสนอสื่อว่าพอเหมาะหรือมากเกินความจำเป็น การวัดผลสื่อนี้เพื่อผลในการใช้ดัดแปลงปรับปรุงให้ดีขึ้นสำหรับการนำไปใช้ในอนาคต เราสามารถที่จะนำเอาผลการอภิปรายในชั้นเรียน การสัมภาษณ์ และการสังเกตผู้เรียนมาใช้เป็นแนวทางในการวัดผลสื่อได้
....เครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผลสื่อการเรียนการสอนมีหลายรูปแบบ ผู้กระทำการวัดและประเมินผลอาจเลือกใช้ตามความเหมาะสม ที่นิยมกันมากได้แก่ แบบทดสอบ แบบสังเกต แบบตรวจสอบรายการ (Checklist) เป็นต้น
....การวัดและการประเมินผลสื่อการเรียนการสอนมีขั้นตอนการตรวจสอบที่พิถีพิถันเพื่อให้ได้สื่อที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง การตรวจสอบแบ่งได้ดังนี้
..ขั้น 1 การตรวจสอบโครงสร้างภายในสื่อ (Structural basis)
....1. ลักษณะสื่อ....
..1.1 ลักษณะเฉพาะตามประเภทของสื่อ
..1.2 มาตรฐานการออกแบบ (Design Standards)
..1.3 มาตรฐานทางเทคนิควิธี (Technical Standards)
..1.4 มาตรฐานความงาม(Aesthetic standards)
....2. เนื้อหาสาระ....
..ขั้น 2 การตรวจสอบคุณภาพสื่อ (Qualilative basis) โดยปกติจะดำเนินการโดยการทดลองใช้สื่อกับตัวแทนกลุ่มเป้าหมายในสภาพการณ์จริงปกติ ซึ่งแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ
..1) การทดสอบหนึ่งต่อหนึ่ง
..2) การทดสอบกลุ่มเล็ก
..3) การทดสอบกลุ่มใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

..มองโลกในแง่ดี..บ้าง..

มีขยะที่ต้องเก็บหลังงานปาร์ตี้เลิก..
นั่นหมายความว่าเราได้อยู่กับเพื่อนๆ
มีภาษีที่ต้องจ่าย..
หมายความว่าเรามีงานทำ
มีเสื้อผ้าคับเกินไป..
หมายความว่าเรามีอาหารเพียงพอที่จะกิน
มีเงาตามหลังขณะเราทำงาน..
หมายความว่าเราได้ออกไปรับแสงแดด
มีหน้าต่าง-ประตูที่ต้องทำความสะอาด..
หมายความว่าเรามีบ้านอยู่
เสียงด่ารัฐบาลที่เราได้ยิน..
หมายความว่าเรามีเสรีภาพที่จะพูดได้
ที่จอดรถที่ไกลที่สุดของพื้นที่จอด..
นั่นหมายความว่าขาเรายังเดินได้
เสื้อผ้ากองใหญ่ที่ต้องซักรีด..
หมายความว่าเรายังมีเสื้อผ้าใส่
รู้สึกเมื่อยล้าหลังการทำงานในแต่ละวัน..
หมายความว่าเรายังทำงานได้
เสียงนาฬิกาปลุกที่ดังขึ้นทุกเช้า..
หมายความว่าเรายังมีชีวิตอยู่
เสียเวลาอ่านเมลล์นี้..
"หมายความว่าเรามีเพื่อนที่ยังคิดถึงเรา"..